วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญ ในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น คือตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 วันเข้าพรรษา พ.ศ. 2566 ตรงกับ วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2566 / วันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง ปีเถาะ
•
🙏🏻 การเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์จะมีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ โดยพระสงฆ์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสวดมนต์ เจริญสมาธิ และศึกษาพระปริยัติธรรม นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะได้เผยแพร่ธรรมะแก่ประชาชนอีกด้วย
โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจาก วันอาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์ แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ปุริมพรรษา คือ การเข้าพรรษาแรก การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
2. ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน
🙏🏻 วันเข้าพรรษา นอกจากจะเป็นช่วงที่พระภิกษุอยู่ประจำที่ดังกล่าวแล้ว ยังก่อให้เกิดประเพณีสำคัญขึ้นอีก 2 ประเพณีคือ ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน และ ประเพณีแห่เทียนพรรษา
🙏🏻 ประเพณีสำคัญขึ้นในวันเข้าพรรษามี 2 ประเพณีคือ
1. ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน เกิดขึ้นโดยมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งนางวิสาขา มหาอุบาสิกาต้องการจะนิมนต์พระภิกษุไปฉันภัตตาหารที่บ้าน จึงให้หญิงรับใช้ไปพระวิหารเชตวันเพื่อนิมนต์พระ ปรากฏว่านางไปเห็นพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนอยู่ ก็กลับมารายงานด้วยความเข้าใจผิดว่าไม่พบพระ เห็นแต่พวกชีเปลือย นางวิสาขาก็รู้ด้วยปัญญาว่าคงเป็นพระอาบน้ำฝนอยู่ ดังนั้น นางจึงได้ทูลขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุและภิกษุณีเป็นประจำแต่นั้นมา จึงเกิดเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อมาจนทุกวันนี้ และกล่าวกันว่า ผู้ที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนจะได้รับอานิสงส์เหมือนการถวายผ้าอื่นๆตามนัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ ทำให้เป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส สวยงาม ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีความสะอาดผ่องใสทั้งกายและใจ
2. ส่วนประเพณีแห่เทียนพรรษา เกิดจากความจำเป็นที่ว่าสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อพระภิกษุอยู่รวมกันมากๆเพื่อปฏิบัติกิจวัตร เช่น การสวดมนต์ตอนเช้ามืดและพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม การบูชาพระรัตนตรัย ฯลฯ จำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากเทียน
🤍 ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันนำเทียนมาถวาย ซึ่งช่วงต้นก็คงจะถวายเป็นเทียนเล็กๆธรรมดา ครั้นต่อมาก็ได้มีการมัดเทียนเล็กๆมารวมกันเป็นต้น คล้ายต้นกล้วยหรือลำไม้ไผ่ แล้วติดกับฐาน ที่เรียกกันว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา และก็วิวัฒนาการมาเรื่อยๆจนเป็นเทียนพรรษาอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน